กินอย่างไรให้เป็นยา : การบริโภคสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อสุขภาพ

การบริโภคสมุนไพรที่มีอยู่ในครัวเรือนอย่างพริก ขิง ตะไคร้ ใบมะกรูด บัวบก และตำลึง เป็นวิธีที่ช่วยให้ร่างกายได้รับประโยชน์ทั้งในการบำรุงและป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผักเหล่านี้สามารถใช้เป็นทั้งส่วนผสมในการประกอบอาหารและเป็นยาสมุนไพรได้ในเวลาเดียวกัน มาดูกันว่าผักสวนครัวแต่ละชนิดมีสรรพคุณอะไรบ้างและสามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพได้อย่างไร

สรรพคุณของสมุนไพรครัวเรือนที่มีฤทธิ์ร้อน

สมุนไพรส่วนใหญ่ที่นิยมปลูกตามบ้าน เช่น พริก ขิง ตะไคร้ และใบมะกรูด มีสรรพคุณเด่นในด้านการขับลมและการกระตุ้นระบบย่อยอาหาร โดยสมุนไพรฤทธิ์ร้อนจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นในร่างกายและช่วยขับลมออกจากลำไส้

พริกขี้หนู

สรรพคุณ : ช่วยขับลม ลอาการปวดเมื่อย และลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและกระดูก
วิธีใช้ : มักใช้ในอาหารประเภทเผ็ด เช่น ต้มยำ เพื่อกระตุ้นระบบย่อยอาหารและเพิ่มรสเผ็ดร้อน

ขิง

สรรพคุณ : ช่วยขับลม บรรเทาอาการท้องอืด และช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
วิธีใช้ : ใส่ในอาหารหรือต้มน้ำขิงเพื่อดื่ม สามารถบรรเทาอาการจุกเสียดและช่วยย่อยอาหารได้ดี

ตะไคร้

สรรพคุณ : ขับลม ขับปัสสาวะ และช่วยบรรเทาอาการท้องอืด
วิธีใช้ : มักใช้ในต้มยำหรือน้ำสมุนไพร โดยช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบปัสสาวะ

ใบมะกรูด

สรรพคุณ : ขับลมและลดอาการวิงเวียน
วิธีใช้ : ใบและผิวมะกรูดนิยมนำไปใส่ในอาหารหรือตำรับยาสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้และวิงเวียนศีรษะ

ใบบัวบก

สรรพคุณ : ช่วยบรรเทาอาการฟกช้ำและอาการบวม บำรุงสมอง ลดความดัน และลดน้ำตาลในเลือด
วิธีใช้ : นำไปทำเป็นเครื่องดื่มหรือต้มเพื่อดื่ม นอกจากนี้ยังสามารถใช้ภายนอกเพื่อบรรเทาอาการฟกช้ำได้

ปริมาณการบริโภคสมุนไพรที่เหมาะสม

การบริโภคสมุนไพรสดในอาหารทุกวันช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและบำรุงสุขภาพได้ดี แต่หากต้องการใช้เพื่อการรักษา อาจจำเป็นต้องใช้ในปริมาณเข้มข้นขึ้น จึงมักนำมาสกัดเป็นแคปซูล ครีม หรือน้ำมันเพื่อการรักษาเฉพาะทาง เช่น ขิงในแคปซูล 100 มิลลิกรัม ที่มีสรรพคุณเทียบเท่ากับขิงสดจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรในรูปแบบแคปซูลหรือเจลควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

การใช้สมุนไพรภายนอกเพื่อการรักษา

นอกจากการรับประทานแล้ว สมุนไพรหลายชนิดยังสามารถใช้ภายนอกเพื่อรักษาโรคและบรรเทาอาการได้ เช่น
ลูกประคบสมุนไพร : มีส่วนผสมจากพืชสมุนไพรหลากหลายชนิด ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยและฟื้นฟูสภาพกล้ามเนื้อ
น้ำมันไพรและน้ำมันหอมระเหย : ใช้สำหรับนวด บรรเทาอาการปวดเมื่อยและช่วยลดอาการอักเสบ
ทิงเจอร์และครีมสมุนไพร : เช่น ทิงเจอร์ทองพันชั่งที่ใช้สำหรับรักษากลากเกลื้อน หรือสมุนไพรที่มีส่วนผสมของกัญชาซึ่งมีฤทธิ์ลดอาการสะเก็ดเงินและบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร

เมนูอาหารสมุนไพรที่ช่วยบำรุงสุขภาพ

เมนูอาหารไทยหลายชนิดมีการใส่สมุนไพรเพื่อเพิ่มรสชาติและช่วยบำรุงสุขภาพ โดยบางเมนูมีสรรพคุณพิเศษ เช่น
แกงขี้เหล็ก : ช่วยการขับถ่าย แก้อาการท้องผูก และทำให้นอนหลับสบาย
ต้มยำ : ใส่สมุนไพรหลายชนิด ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารและขับลมในร่างกาย
แกงเลียง : ใส่พริกไทย หัวปลี มีสรรพคุณช่วยบำรุงน้ำนมในแม่หลังคลอด และช่วยขับลม

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร

แม้สมุนไพรจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในรูปแบบที่เข้มข้นขึ้น เช่น แคปซูลหรือเจล การใช้สมุนไพรในรูปแบบนี้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะหากใช้ผิดวิธีอาจเกิดผลข้างเคียงได้

การเลือกใช้สมุนไพรที่มีอยู่ตามธรรมชาติและปลูกเองตามรั้วบ้าน ไม่เพียงช่วยบำรุงร่างกายและป้องกันโรคได้ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรที่ปลอดภัยและมีผลข้างเคียงต่ำ การนำสมุนไพรมาประกอบอาหารเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับอาหารและสุขภาพของเราได้อย่างแท้จริง

ขอบคุณข้อมูลจาก : พทป.ชยน์พรรณ์ แสงเพชร แพทย์แผนไทยประยุกต์ประจำศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เรียบเรียง : นางสาวนันทพร ระบิน
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์
อ้างอิง : https://www.med.cmu.ac.th/web/news-event/17340/