อย. แนะ หากจะใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร จะต้องใช้ด้วยความเข้าใจ ระมัดระวัง ไม่ควรใช้อย่างพร่ำเพรื่อ และควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้ด้านสมุนไพรทั้งก่อนและในระหว่างการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้น ๆ อย่างสม่ำเสมอ
นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนมากที่หันมาใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรในการรักษาโรคหรือดูแลสุขภาพ ซึ่งต้องใช้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่นในกรณี “ถั่งเช่า” หรือที่รู้จักกันในชื่ออื่นๆ เช่น ตงถงเซี่ยเฉ่า หญ้าหนอน หนาวหนอนร้อนหญ้า จัดเป็นเครื่องยาจีนชนิดหนึ่งที่ประกอบขึ้นมาจากส่วนของเห็ดรา Cordyceps sinensis ด้านบนที่งอกขึ้นมาจากส่วนของตัวหนอนของผีเสื้อในสกุล Hepialus armoricanus ด้านล่างที่อยู่ในดิน โดยมากมักใช้เป็น ยาบำรุง หรือเข้าตำรับยากับสมุนไพรอื่น ๆ ในกลุ่มของตำรับยาบำรุง มีสารสำคัญ มีฤทธิ์บำรุงปอด (ระบบการหายใจ) จากสารสำคัญของเห็ดรา และมีฤทธิ์บำรุงไต (ระบบทางเดินปัสสาวะ) ทำให้เครื่องยาชนิดนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีราคาสูง และหายาก ในปัจจุบันจึงได้มีการเพาะเลี้ยงเฉพาะในส่วนของเห็ดราด้านบนออกมาจำหน่ายในชื่อ “เห็ดถั่งเช่าสีทอง” แต่จะมีแต่เฉพาะส่วนของเห็ดราด้านบนเพียงอย่างเดียว และเป็นเห็ดราคนละชนิดกับเห็ดราที่เกิดเป็นเครื่องยาถั่งเช่า จึงทำให้สรรพคุณในการออกฤทธิ์ด้อยกว่าเครื่องยาถั่งเช่าของแท้
ในกรณีของผู้ป่วยที่เป็นโรคไต สามารถรับประทาน“ถั่งเช่า” เพื่อช่วยบำรุงร่างกาย ช่วยปรับสมดุลการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะให้ดีขึ้น เป็นการใช้ในลักษณะการช่วยเสริมการรักษาหลักให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นจึงห้ามละทิ้งการรักษาหลักโดยแพทย์ผู้รักษา และจะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจต้องมีการตรวจติดตามการทำงานของไตอยู่เป็นระยะ
นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่ใส่ใจสุขภาพ ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างพร่ำเพรื่อ ควรใช้ด้วยความเข้าใจ จึงควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือผู้ประกอบวิชาชีพที่มีความรู้ด้านสมุนไพรทั้งก่อนและในระหว่างการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นๆ อย่างสม่ำเสมอ เลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด
ขอบคุณที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)